เกียร์ธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา

   เกียร์ H-Pattern   (เฮช-แพทเทิร์น) ซึ่งเป็นเกียร์ธรรมดาที่กันอย่างแพร่หลายที่สุด เพราะว่าเกียร์ H-Pattern นั้น มีกระบวนการผลิตที่ง่าย ต้นทุนต่ำ การดูแลรักษานั้น ก็ไม่ได้ยากเย็น ทำให้เกียร์ H-Pattern กลายเป็นเกียร์พิมพ์นิยมแห่งวงการเกียร์แมนนวลอย่างปฏิเสธไม่ได้  
ยังมีเกียร์แมนนวลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในวงการแคบๆ ...ใช่แล้วครับ วงการที่ผมกำลังจะพูดถึงก็คือวงการมอเตอร์สปอร์ต รวมไปถึงวงการรถแข่งสมรรถนะสูง และเกียร์แมนนวลที่ว่านี้ ก็คือ “เกียร์ซีเควนเชียล” (Sequential Transmission) นั่นเองครับ ในปัจจุบันนี้ เกียร์ประเภทซีเควนเชียลสามารถพบเห็นได้ในรถแข่งโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถแข่งประเภทเซอร์กิต ที่ต้องชิฟท์อัพ-ชิฟท์ดาวน์ ในทุกจังหวะของการเข้า-ออกจากโค้ง นอกจากนั้น ในวงการทางตรงอย่างแดร็กเรซซิ่งเอง ก็นิยมใช้เกียร์ประเภทนี้อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกันครับแล้วทำไมเกียร์ซีเควนเชียล ถึง “ดีกว่า” เกียร์แบบ H-Pattern ?

ถ้าไม่คำนึงถึงราคาต้นทุนแล้วล่ะก็ เกียร์ซีเควนเชียลนั้น มีข้อได้เปรียบกว่าเกียร์ H-Pattern อยู่หลายขุมเลยล่ะครับ จุดที่โดดเด่นที่สุดของเกียร์ซีเควนเชียลก็คือ “สมรรถนะ” นั่นเอง เพราะเหตุนี้ ในวงการรถยนต์สมรรถนะสูงแล้ว การได้ครอบครองเกียร์ซีเควนเชียล จึงถือเป็นการสร้างความได้เปรียบตั้งแต่ก่อนเริ่มการแข่งขัน

         ข้อได้เปรียบของเกียร์ซีเควนเชียล

ในส่วนนี้ ผมจะอธิบายถึงข้อได้เปรียบของเกียร์ซีเควนเชียลเมื่อเปรียบเทียบกับเกียร์แมนนวลแบบ H-Pattern โดยผมจะโฟกัสในแง่ของสมรรถนะเป็นหลักนะครับ ซึ่งถ้าเรามองรวมๆ แล้ว ประโยชน์หลักๆ ของเกียร์ซีเควนเชียลจะมีทั้งหมด 3 ประการดังต่อไปนี้ครับ
       ข้อได้เปรียบข้อที่หนึ่ง : สับได้เร็ว-เชนได้ไว
ข้อได้เปรียบที่โดดเด่นที่สุดของเกียร์ซีเควนเชียลก็คือว่า มันเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วมากๆ เผลอจะเร็วพอๆ กับเกียร์คลัทช์คู่เสียด้วยซ้ำ (DCT Transmission) และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม เกียร์ซีเควนเชียลจึงกลายมาเป็นตัวเลือกอันดับต้นของรถแข่งเซอร์กิต รวมไปถึงรถสมรรถนะสูงแรงม้ามากๆ ที่มีศัตรูคู่อาฆาตชื่อว่า “เวลา” นั่นเองครับ สำหรับเกียร์ H-Pattern แล้ว ตำแหน่งการเปลี่ยนเกียร์จะเป็นแบบซิก-แซ็ก จังหวะการเข้าเกียร์จึงเป็นแนวฟันปลา ยิ่งสโตรคยาว ก็ยิ่งเสียเวลาเปลี่ยนเกียร์มาก ทำให้เสียความต่อเนื่องของการส่งกำลัง และเสียแรงม้าไปอย่างเปล่าประโยชน์ เป็นผลให้สามารถเวลาต่อรอบได้ช้าลงนั่นเองครับในทางตรงกันข้าม สำหรับเกียร์ซีเควนเชียลนั้น การเปลี่ยนตำแหน่งของเกียร์ จะอาศัยการเคลื่อนที่เพียงแค่แกนเดียว (ดึง-ผลัก) ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ที่สั้นมากๆ โดยกลไกภายในห้องเกียร์จะเปลี่ยนการเคลื่อนที่แบบดึง-ผลัก ให้กลายเป็นการเข้าเกียร์ไล่เรียงลำดับ ฟังดูแล้วเหมือนง่าย แต่กลไกที่ว่านี้ มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างมากครับ


      ข้อได้เปรียบข้อที่สอง : ลืมการ “สับว่าว”...ไปได้เลยครับ
ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านหลายคนกำลังงงว่า ...คำว่า “สับว่าว” มันคืออะไร? ...”สับว่าว” ก็หมายถึงเข้าเกียร์ผิดนั่นเองครับ ไม่ว่าจะใส่เกียร์ไม่เข้า รวมไปถึงการเข้าเกียร์ผิดตำแหน่ง ซึ่งปกติแล้วเค้าจะเรียกว่า “สับว่าว” นั่นเองครับผมข้อได้เปรียบข้อนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการแข่งขันประเภทเซอร์กิต ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงอย่างตลอดและต่อเนื่อง สำหรับเกียร์แบบ H-Pattern แล้ว มีความเป็นได้สูงมากว่า นักแข่งอาจจะเปลี่ยนเกียร์ผิดตำแหน่ง ถ้าเข้าผิดในจังหวะอัพ-ชิฟท์ (เพิ่มเกียร์) ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าหากเข้าผิดในจังหวะดาวน์-ชิฟท์ล่ะก็ ได้เรื่องแน่นอนครับ...ยกตัวอย่างเช่น จะเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์ 5 มาเป็นเกียร์ 4 แต่ดันเข้าผิดเป็นเกียร์ 2 คราวนี้ล่ะก็ รอบเครื่องได้ฟาดขึ้นไปหลักหมื่นแน่นอน อย่างแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ “ล้อล็อค” ...ถ้าเหยียบคลัทช์ทันก็แล้วไปครับ ถ้าเหยียบไม่ทันล่ะก็ สวดมนต์ภาวนาให้กับเครื่องยนต์ได้เลยครับ...

เรียบเรียงโดย Joh BURUT

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม